H I S T O R Y

 

            "เรียนจากอดีต รู้ในปัจจุบัน วาดฝันถึงอนาคต กับ KM ของสำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"

 

 

            เป็นเวลานานเกือบทศวรรษที่พวกเราชาวสำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พัฒนาการจัดการความรู้ (Knowledge Management) หรือที่เรียกกันติดปากว่า KM ของสำนักฯ มาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างทางอันยาวนานเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา พวกเราต่างเรียนรู้และร่วมใจกันเพื่อให้ KM เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานที่มีคุณภาพ สมดังค่านิยมของสำนักฯ ที่ว่า “คุณภาพมาตรฐาน บริการด้วยจิต มุ่งคิดพัฒนา”

 

พ.ศ. 2548 - 2551 เริ่มต้น KM
            KM ของสำนักฯ เกิดขึ้นจากนโยบายของท่าน รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) อดีตผู้อำนวยการสำนักฯ คนแรก ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสำนักฯ ขึ้นมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2548 จากการหลอมรวมกองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดี กับสำนักงานประกันคุณภาพการศึกษา

 

 

            ในสมัยของ รศ.ดร.สัมพันธ์ นั้น คำว่า KM ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกล และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการความรู้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างให้สำนักฯ ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ รศ.ดร.สัมพันธ์ จึงได้นำ KM มาใช้ในสำนักฯ โดยเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงและมีความรู้ด้าน KM จากหลายหน่วยงานมาบรรยายให้ความรู้ และจุดประกายให้พวกเราเห็นถึงประโยชน์จาก KM และนำ Microsoft SharePoint ซึ่งเป็นโปรแกรมจัดการข้อมูลมาเป็นเครื่องมือสำคัญ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเก็บข้อมูลที่ช่วยในการแลกเปลี่ยนและค้นหาข้อมูลได้จากทั้งภายในและภายนอกองค์กร แต่เมื่อสำนักฯ ได้ใช้โปรแกรมดังกล่าวมาหลายปี พบว่า การใช้งานค่อนข้างยุ่งยากและมีผู้ใช้งานน้อย พวกเราจึงกลับมาทบทวนถึงความสำคัญของการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปกับการทำ KM ว่าอะไรเป็นสิ่งที่พวกเราสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งการเผยแพร่ให้องค์กรอื่นๆ สามารถนำ KM ของสำนักฯ ไปปรับใช้ได้โดยง่าย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้อย่างแท้จริง

 

พ.ศ. 2551-2554 แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ KM

 

 

            ในปลายปี พ.ศ. 2551 เมื่อท่าน รศ.อุษณีย์ คำประกอบ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักฯ คนใหม่ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ได้สานต่อ KM ของสำนักฯ โดยแต่งตั้ง KM Team ซึ่งมีอาจารย์จากสาขาวิชาการจัดการความรู้ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่ปรึกษา, ผู้อำนวยการสำนักฯ เป็น CKO (Chief Knowledge Officer), รศ.พิษณุ เจียวคุณ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ เป็นหัวหน้า KM Team และมีบุคลากรซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกฝ่ายของสำนักฯ ร่วมเป็น KM Team
            เมื่อ KM Team ถูกตั้งขึ้น ไฟในตัวพวกเราก็ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง มีการจัดประชุม KM Team กันบ่อยครั้ง เพื่อระดมสมองร่วมกันว่าเราจะหาหนทางสู่ความสำเร็จของการทำ KM ได้อย่างไร และหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของ KM Team คือ การเดินทางจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สู่โรงพยาบาลบ้านตาก จังหวัดตาก ซึ่งเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงด้าน KM ในระดับประเทศ และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย

 

 

            หลังกลับจากการดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนที่ทำ KM จนประสบความสำเร็จของโรงพยาบาลบ้านตาก KM Team ก็มีกำลังใจในการทำ KM ของสำนักฯ กันมากขึ้น จนเป็นที่มาของการทำ KM ในแบบของสำนักฯ คือ การทำ KM จากงานหรือกิจกรรมที่พวกเราชาวสำนักฯ มีส่วนร่วมกันทุกคนเพื่อให้งานนั้นสำเร็จไปได้ด้วยดี เพื่อให้บุคลากรของสำนักฯ ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ KM นั้นร่วมกัน “การเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา” จึงเป็นคำตอบของการทำ KM รูปแบบใหม่ของสำนักฯ
            เมื่อได้หัวข้อที่เป็นประเด็นกลางในการทำ KM รูปแบบใหม่ของสำนักฯ แล้ว จึงได้จัดประชุมบุคลากรสำนักฯ ทุกคน และช่วยกันเจาะประเด็นองค์ความรู้ เรื่อง “การเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา” ซึ่งบุคลากรสำนักฯ ทุกคนล้วนมีส่วนร่วมทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา โดยมีการแต่งตั้งคุณอำนวย (Facilitator) ทำหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานงาน อำนวยความสะดวก และกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากร มีคุณลิขิต (Note taker) ทำหน้าที่เป็นผู้จดบันทึกองค์ความรู้ที่บุคลากรแต่ละคนได้ถ่ายทอดออกมา จากนั้น KM Team จึงนำสิ่งที่ได้มาสรุปและเผยแพร่ผ่านทาง www.eqd.cmu.ac.th/km ในมุม “การจัดการความรู้ (EQD KM)” เพื่อให้มหาวิทยาลัยอื่นที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการฯ ได้นำองค์ความรู้ของสำนักฯ ไปปรับใช้ และเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสำนักฯ

 

 

พ.ศ. 2555-2557 มุ่งมั่นและพัฒนา KM
            ความสำเร็จจากการทำ KM ประเด็นกลาง เรื่อง “การเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการตลาดนัดหลักสูตรอุดมศึกษา” ทำให้สำนักฯ ได้จัดทำ KM ประเด็นกลางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหัวข้อที่เลือกมาทำ KM ประเด็นกลางในแต่ละปีนั้นมาจากการเสนอหัวข้อและลงความเห็นร่วมกันของบุคลากรสำนักฯ ดังนี้
            ปี พ.ศ. 2555 KM ประเด็นกลาง เรื่อง “การจัดการประชุมที่ดี”
            ปี พ.ศ. 2556 KM ประเด็นกลาง เรื่อง “เทคนิคการประเมินผลการจัดกิจกรรม/โครงการ”
            ปี พ.ศ. 2557 KM ประเด็นกลาง เรื่อง “เทคนิคการเขียนรายงานการประชุม”
            นอกจากการทำ KM ประเด็นกลางเป็นประจำทุกปีแล้ว ผู้อำนวยการสำนักฯ ได้มีนโยบายให้ทำ KM งานประจำของทุกฝ่ายในสำนักฯ ซึ่งแต่ละฝ่ายได้จัดทำ KM งานประจำในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น

 

 

            ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2556 สำนักฯ ได้ตั้ง KM Team ชุดใหม่ขึ้นมา เพื่อให้บุคลากรแต่ละฝ่ายได้มีส่วนร่วมในทีมอย่างทั่วถึง โดยมี ผู้อำนวยการสำนักฯ เป็นประธาน, ผศ.ดร.อัจฉราพร ศรีภูษณาพรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน เป็นหัวหน้า KM Team
            นอกจากนี้ สำนักฯ ยังได้จัดกิจกรรม EQD KM Day เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการทำ KM ของสำนักฯ มาแล้ว 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรก เป็นการจัด KM Day เป็นการภายในสำหรับบุคลากรสำนักฯ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 ณ โรงแรมฟูรามา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งที่ 2 ได้เรียนเชิญบุคลากรในสังกัดสำนักงานมหาวิทยาลัย มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2557 ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
            แล้วความสำเร็จอันนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของพวกเราก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2557 สำนักฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมและส่งผลงาน KM เข้าร่วมประกวดในงาน Show and Share 2014 Knowledge Management ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ด้วย KM ในหัวข้อเรื่อง “การส่งและการรับหนังสือ”

 

 

พ.ศ. 2558 – ปัจจุบัน ก้าวย่างต่อไปของ KM
            ในปี พ.ศ. 2558 และปีต่อๆ ไป พวกเรายังคงมุ่งมั่นในการทำ KM ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ KM เป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นแรงผลักดันให้สำนักฯ บรรลุวิสัยทัศน์ที่ว่า “เราจะเป็นเลิศในฐานะหน่วยงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย”
            โดยการบูรณาการแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำ KM ของสำนักฯ เพื่อให้สำนักฯ ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญขององค์กรที่เป็นเลิศ พร้อมๆ กับการก้าวย่างสู่ทศวรรษที่ 2 ของสำนักฯ อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

 

            "จุดหมายปลายทางอาจไม่สำคัญ... เท่าสิ่งที่เราเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทาง"